ประโยชน์ของตลาดรองหุ้นกู้ปูนซิเมนต์ไทยที่มีต่อนักลงทุนคืออะไร?
การมีตลาดรองรับซื้อ-ขายหุ้นกู้ปูนซิเมนต์ไทยตามราคาตลาด (ราคาตลาด ในที่นี้หมายถึงราคาของหุ้นกู้ปูนซิเมนต์ไทยที่ขึ้นลงตามสภาวะตลาด ดังนั้นนักลงทุนอาจมีกำไรหรือขาดทุนจากการซื้อขายหุ้นกู้ในตลาดรองก็ได้) นั้น ทำให้นักลงทุนมีทางเลือกในการลงทุนเพิ่มขึ้น กล่าวคือ นักลงทุนที่พลาดโอกาสซื้อหุ้นกู้สามารถซื้อได้ในตลาดรองตามราคาตลาด และนักลงทุนที่ถือหุ้นกู้อยู่เดิม สามารถขายหุ้นกู้ได้บางส่วนหรือทั้งหมดตามราคาตลาดก่อนครบอายุไถ่ถอนเ พื่อนำเงินไปใช้จ่าย หรือลงทุนใหม่
ผู้ถือหุ้นกู้สามารถซื้อ-ขายหุ้นกู้ก่อนครบกำหนดได้อย่างไร?
หลังจากที่ผู้ถือหุ้นได้รับใบหุ้นกู้แล้ว ผู้ถือหุ้นสามารถซื้อ-ขายหุ้นกู้ได้ในตลาดรอง โดยตลาดรองของหุ้นกู้ปูนซิเมนต์ไทยมี 2 ที่ด้วยกันคือ
1.ธนาคารไทยพาณิชย์ทุกสาขา: นักลงทุนสามารถซื้อ-ขายหุ้นกู้ของบริษัททุกชุดตามราคาตลาดที่ธนาคารไทยพาณิชย์ทุกสาขาทั่วประเทศ ในเวลาทำการ โดยสามารถสอบถามราคาเสนอซื้อ-ขายอ้างอิงประจำวันได้ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ และเวปไซต์ของปูนซิเมนต์ไทย www.siamcement.com
ในส่วนของ Debenture Quotation นอกจากนี้ สำหรับหุ้นกู้ของเยื่อกระดาษสยามฯ สามารถดูราคาประจำวันได้จากหนังสือพิมพ์มติชนอีกด้วย
2. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย: บริษัทปูนซิเมนต์ไทยได้นำหุ้นกู้ทั้งหมดไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ นักลงทุนจึงสามารถซื้อขายผ่านบริษัทหลักทรัพย์ หรือนายหน้าค้าหุ้น (Broker) ที่ท่านมีบัญชีอยู่ได้อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการลงทุนในหุ้นกู้บริษัทปูนซิเมนต์ไทยทุกชุดที่ซื้อ-ขาย ในตลาดรองเสนอผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ดังนั้น นักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัทจึงต้องยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการประกอบการของบริษัท
เวลาซื้อ-ขายหุ้นกู้ปูนซิเมนต์ไทยในตลาดรองมักได้ยินคำว่า ดอกเบี้ยค้างจ่าย อยากทราบว่าดอกเบี้ยค้างจ่ายคืออะไร มีวิธีการคิดคำนวณอย่างไร?
ถ้านักลงทุนซื้อ-ขายหุ้นกู้ปูนซิเมนต์ไทยในตลาดรองก่อนวันครบกำหนดจ่ายดอกเบี้ยครั้งต่อไป ราคาที่ทำการตกลงกันจะมีดอกเบี้ยค้างจ่าย รวมอยู่ด้วย โดยคิดตามจำนวนวันนับจากวันที่มีการจ่ายดอกเบี้ยครั้งล่าสุดยกตัวอย่างหุ้นกู้ปูนซิเมนต์ไทยครั้งที่ 2/2547 ที่กำหนดอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 4.5 ต่อปี และมีกำหนดการจ่ายดอกเบี้ยทุกวันที่ 1 ของเดือนกุมภาพันธ์ พฤษภาคม สิงหาคม พฤศจิกายน ของทุกปี (ราคาหน้าตั๋ว 1,000 บาท) หากนักลงทุนนำหุ้นกู้ไปขาย และส่งมอบให้ธนาคารพาณิชย์ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2548 หุ้นกู้ดังกล่าวจะมีดอกเบี้ยค้างจ่ายสำหรับระยะเวลา 14 วัน (1 กุมภาพันธ์ 2548 – 14 กุมภาพันธ์ 2548) สะสมอยู่คิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 1.726 บาทต่อหุ้นกู้ 1 หน่วย (1,000*4.5%*14/365 = 1.726) ดังนั้น ราคาซื้อขายหุ้นกู้ประจำวันจะรวมดอกเบี้ยค้างจ่ายอยู่แล้ว
คำศัพท์ Ex-coupon ที่ใช้ในการซื้อ-ขายหุ้นกู้ในตลาดรองคืออะไร?
นักลงทุนที่ซื้อหุ้นกู้ในช่วงเวลา Ex-coupon จะไม่ได้รับดอกเบี้ยในงวดนั้นๆ ในขณะที่นักลงทุนที่ขายหุ้นกู้ในช่วงเวลาดังกล่าวจะเป็นผู้มีสิทธิรับดอกเบี้ยในงวดดังกล่าว Ex-coupon จะอยู่ในช่วงเวลาที่บริษัทประกาศปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นกู้เพื่อพักการโอนหุ้นเป็นระยะเวลา 14 วัน ก่อนวันชำระดอกเบี้ยแต่ละงวด หรือวันประชุมผู้ถือหุ้นกู้แล้วแต่กรณี ซึ่งหากวันปิดสมุดทะเบียนวันแรกไม่ตรงกับวันทำการให้เลื่อนไปเป็นวันทำการถัดไป ยกตัวอย่างเช่น หู้นกู้บริษัทปูนซิเมนต์ไทยครั้งที่ 1/2547 มีกำหนดจ่ายดอกเบี้ยใน วันที่ 1 มกราคม 2548 หุ้นกู้ดังกล่าวจะอยู่ในช่วง Ex-coupon ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2547 เวลา 12.00 จนถึงวันก่อนวันที่ชำระดอกเบี้ย เพราะฉะนั้นนักลงทุนที่ซื้อหุ้นกู้ปูนซิเมนต์ไทยในช่วงเวลาดังกล่าว (20 ธันวาคม 2547 - 31 ธันวาคม 2547) จะไม่ได้รับดอกเบี้ยในงวดวันที่ 1 มกราคม 2548 เป็นต้น
ในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดมีการเปลี่ยนแปลงจะส่งผลต่อราคาหุ้นกู้อย่างไร?
โดยทั่วไปราคาหุ้นกู้จะแปรผกผันกับการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยในตลาด กล่าวคือ หากอัตราดอกเบี้ยในตลาดมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น
ราคาหุ้นกู้จะต่ำลง และในทางกลับกัน หากอัตราดอกเบี้ยลดลง ราคาหุ้นกู้จะสูงขึ้น
ผลการดำเนินงานของบริษัทจะมีผลทำให้อัตราดอกเบี้ยของหู้นกู้ ที่กำหนดไว้ตอนออก และเสนอขายเปลี่ยนแปลงหรือไม่?
อย่างไรก็ตาม โปรดสังเกตว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทอาจมีผลทำให้ราคาเสนอซื้อ-ขายหุ้นกู้ในตลาดรองมีการปรับตัว เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของความเสี่ยงด้านเครดิตเนื่องจากหุ้นกู้เป็นหนี้สินของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย บริษัทจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้ตามที่กำหนดไว้ตอนออก และเสนอขายได้ นักลงทุนสามารถอ้างอิงการกำหนดดอกเบี้ยหุ้นกู้ได้จากหนังสือข้อสนเทศหุ้นกู้ หรือจากรายละเอียดในใบหุ้นกู้ที่นักลงทุนครอบครองอยู่
อย่างไรก็ตามหากผู้ถือหุ้นกู้ถือหุ้นกู้ไว้จนครบกำหนดไถ่ถอน ราคาเสนอซื้อ-ขายในตลาดรองที่ปรับเปลี่ยนจะไม่มีผลกับผู้ถือหุ้นกู้ เนื่องจากทางบริษัทจะชำระคืนเงินต้นให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ตามราคาหน้าตั๋ว
หากต้องการโอนหุ้น เปลี่ยนข้อมูลผู้ถือหุ้นกู้ เช่น ชื่อนามสกุล ที่อยู่ จะต้องทำอย่างไร?
ผู้ถือหุ้นกู้สามารถติดต่อได้ที่บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด โทร. 0 2229 2800
ถามตอบเกี่ยวกับ SCG Debenture Club
ซื้อหุ้นกู้เอสซีจีแล้วจะได้รับสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง
ผู้ถือหุ้นกู้เอสซีจี (บุคคลธรรมดาและคณะบุคคล) จะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากบัตรสมาชิก SCG Debenture Club ซึ่งได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพ, ท่องเที่ยว, ไลฟ์สไตล์ และร้านอาหาร เป็นต้น และยังได้รับ SCG Delight นิตยสารราย 2 เดือน พร้อมแนบรายละเอียดกิจกรรมต่างๆ สำหรับผู้ถือหุ้นกู้เอสซีจี เช่น กิจกรรมสัมมนา กิจกรรมเวิร์คชอป กิจกรรมทริปท่องเที่ยวในประเทศ กิจกรรมทริปท่องเที่ยวต่างประเทศ กิจกรรมสำหรับบุตรหลานผู้ถือหุ้นกู้ (YBH) กิจกรรมคอนเสิร์ต นอกจากนี้ SCG Debenture Club ยังให้ความสำคัญกับวันพิเศษของผู้ถือหุ้นกู้ เช่น วันเกิดและวันขึ้นปีใหม่ อีกด้วย
การสมัครเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ กับ SCG Debenture Club ต้องทำอย่างไร
ผู้ถือหุ้นกู้เอสซีจีสามารถสมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ 4 ช่องทาง คือ (1) ทางโทรศัพท์อัตโนมัติ 02 586 2112, (2) ทางโทรสาร 02 586 4977 (บางกิจกรรม), (3) ทางอีเมลล์ debentureclub@scg.co.th และ (4) ทางเวบไซต์ www.scg.co.th/debentureclub
SCG Debenture Club มีวิธีการเลือกผู้เข้าร่วมกิจกรรมอย่างไร
SCG Debenture Club จะเลือกสรรกิจกรรมที่เหมาะสมกับผู้ถือหุ้นกู้ ซึ่งกิจกรรมแต่ละรายการจะรองรับผู้ถือหุ้นกู้ได้อย่างเหมาะสม หากมีผู้สมัครเกินกว่าจำนวนที่รับ SCG Debenture club จะใช้ระบบคอมพิวเตอร์สุ่มรายชื่อผู้ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรม โดยจะแจ้งสิทธิ์ผู้ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมทางโทรศัพท์, ข้อความสั้น หรือจดหมาย (ตามแต่ละชนิดของรายการกิจกรรม)
กิจกรรมทั้งหมด SCG Debenture Club ขอสงวนสิทธิ์ให้กับผู้ถือหุ้นกู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมด้วยตนเองเท่านั้น ไม่สามารถโอนสิทธิ์ให้บุคคลอื่นได้ ยกเว้นจะเป็นกิจกรรมที่ระบุให้มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นผู้อื่น หรือมีผู้ติดตาม
กิจกรรมท่องเที่ยวกับ SCG Debenture Club แตกต่างจากที่อื่นอย่างไร
กิจกรรมท่องเที่ยวที่ SCG Debenture Club จัดพาผู้ถือหุ้นกู้ท่องเที่ยวทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ประมาณ 12 ทริปต่อปี โดยคัดเลือกบริษัทท่องเที่ยวชั้นนำของประเทศไทยให้เป็นผู้นำการท่องเที่ยว และ SCG Debenture Club จะทำการคัดเลือกโปรแกรมท่องเที่ยว โรงแรมที่พัก และอาหารให้เหมาะสมกับอัตราค่าบริการ นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ของเอสซีจีอย่างน้อย 1 ท่าน ร่วมเดินทางไปกับผู้ถือหุ้นกู้ตลอดทริป เพื่อดูแลความเรียบร้อยของบริษัททัวร์ และการเดินทางให้สู่ที่หมายด้วยความใส่ใจทุกขั้นตอน (เอสซีจีชำระค่าใช้จ่ายของเจ้าหน้าที่แยกต่างหาก เสมือนลูกค้าผู้ถือหุ้นกู้ท่านอื่น มิได้นำไปคำนวณรวมกับค่าบริการของผู้ถือหุ้นกู้แต่อย่างใด)
ทำไมสมัครกิจกรรมมาหลายครั้ง แต่ไม่ได้รับการสุ่มเลือกเลย
เนื่องจากจำนวนของผู้ถือหุ้นกู้มีเพิ่มขึ้นทุกปี ปัจจุบัน (ปี 2555) มีจำนวนผู้ถือหุ้นกู้รวมประมาณ 9,000 ราย ทำให้การจัดกิจกรรมไม่สามารถรองรับผู้ถือหุ้นกู้ที่สมัครเข้ามาทั้งหมดได้ จึงกำหนดให้บางกิจกรรมให้สิทธิ์ผู้ถือหุ้นกู้เข้าร่วม 1 ครั้งต่อปี เช่น กิจกรรมเวิร์คช็อป ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ถือหุ้นกู้ท่านอื่นที่สนใจได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมด้วยอย่างทั่วถึงกัน
การแจ้งเปลี่ยนแปลงที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์สำหรับเข้าร่วมกิจกรรม SCG Debenture Club หรือ วันเกิด ต้องทำอย่างไร
ผู้ถือหุ้นกู้สามารถแจ้งเปลี่ยนแปลงที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ หรือแจ้งวันเกิด โดยส่งสำเนาบัตรประชาชน พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง และแจ้งข้อมูลที่ต้องการเปลี่ยนแปลง ผ่านทางโทรสาร 02 586 4977 หรืออีเมลล์ debentureclub@scg.co.th
ติดต่อ SCG Debenture Club ได้วัน เวลา ไหนบ้าง
ระบบโทรศัพท์อัตโนมัติ ของ SCG Debenture Club เปิดให้บริการฟังข้อมูลอัตโนมัติที่เกี่ยวกับหุ้นกู้ และกิจกรรมหุ้นกู้ หรือสมัครกิจกรรม ได้ทุกวันตลอด 24 ชม. หากท่านต้องการติดต่อเจ้าหน้าที่สามารถติดต่อได้ระหว่างวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.00-16.30 น. ผ่านโทรศัพท์ตอบรับอัตโนมัติหมายเลข 02 586 2112 กด 0 (หยุดพักเวลา 12.00 – 13.00 น.)
หากไม่ได้รับบัตรสมาชิก SCG Debenture Club หรือทำบัตรสูญหายจะต้องทำอย่างไร
ผู้ถือหุ้นกู้รายใหม่ทุกรายจะได้รับบัตรสมาชิก SCG Debenture Club หลังจากการเข้าซื้อหุ้นกู้แล้วประมาณ 2 เดือน ทั้งนี้ บัตรสมาชิกจะใช้งานได้เมื่อผู้ถือหุ้นกู้กรอกรายละเอียดในแบบฟอร์มสมัครสมาชิก SCG Debenture Club และส่งแบบฟอร์มกลับที่เบอร์โทรสาร 02 586 2112 อีเมลล์ debentureclub@scg.co.th หรือ ทางไปรษณีย์ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะทำการเปิดบัตรให้ โดยใช้ระยะเวลา 2 วันทำการ
หากผู้ถือหุ้นกู้ทำบัตรสมาชิกสูญหาย สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่เอสซีจีเพื่อขอออกบัตรใบใหม่ได้ โดยแนบบัตรประชนพร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง ส่งผ่านโทรสาร หรืออีเมลล์ เจ้าหน้าที่เอสซีจีจะสรุปรายชื่อเพื่อทำบัตรทุกสิ้นเดือน และสามารถส่งบัตรให้ท่านได้ประมาณ 15 วันทำการหลังจากวันที่สรุปรายชื่อแล้ว
บัตรสมาชิกผู้ถือหุ้นกู้ เอสซีจี มี 2 ประเภท คือ Exclusive และ Privilege มีวิธีการแบ่งอย่างไร เกี่ยวข้องกับมูลค่าหุ้นกู้ที่ถืออยู่หรือไม่ ถ้าใช่ ต้องถือเท่าไหร่จึงจะได้เป็น Exclusive
บัตรสมาชิกผู้ถือหุ้นกู้จะถูกแบ่งตามมูลค่าหุ้นกู้ที่ถือทั้งหมดของแต่ละราย โดยใช้วิธี Ranking ในแต่ละปี สำหรับสมาชิกที่ได้รับบัตรแบบ Exclusive จะ Ranking ผู้ที่มีมูลค่าหุ้นกู้สูงสุดจำนวน 500 รายแรก และสมาชิกส่วนที่เหลือจะได้รับบัตรแบบ Privilege
ทำไมคณะบุคคลถึงไม่ได้สิทธิประโยชน์ในวันเกิด
เนื่องจากคณะบุคคลเกิดจากการแต่งตั้งบุคคลธรรมดาตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป จึงทำให้ไม่สามารถระบุวันเกิดของบุคคลใดบุคคลหนึ่งเพื่อรับสิทธิประโยชน์วันเกิดเช่นกับชื่อที่เป็นบุคคลธรรมดาได้
ผู้ถือหุ้นกู้ในนามคณะบุคคล จะมีสิทธิ์ในการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ อย่างไร
SCG Debenture Club ให้สิทธิ์คณะบุคคลเข้าร่วมกิจกรรมได้คณะบุคคลละ 1 ท่าน ซึ่งยึดตามชื่อที่กำกับหลังคำว่า “โดย” เป็นหลัก ในกรณีที่มีหลายคณะบุคคล และมีชื่อกำกับหลังคำว่า “โดย” เป็นคนเดียวกัน จะถือว่ามีสิทธิ์เข้าร่วมกิจกรรมได้ 1 ท่าน และในกรณีที่คณะบุคคลที่มีชื่อกำกับหลังคำว่า “โดย” มากกว่า 1 ชื่อ บริษัทถือว่า “ชื่อแรก” เป็นผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมกิจกรรม
ผู้ถือหุ้นกู้ในนามคณะบุคคล จะได้รับบัตรสมาชิกกี่ใบ
ถ้าผู้ถือหุ้นกู้มีชื่อเป็นบุคคลธรรมดา และมีชื่อในคณะบุคคลด้วย หากคณะบุคคลมีชื่อกำกับหลังคำว่า “โดย” เป็นคนเดียวกันกับบุคคลธรรมดา จะได้รับบัตรสมาชิกในนามบุคคลธรรมดา 1 ใบ และในนามคณะบุคคลอีก 1 ใบ
เหตุใดกิจกรรมเวิร์คชอปจึงรับสมัครผู้เข้าร่วมได้น้อย
เนื่องจาก SCG Debenture Club ต้องการให้ผู้ถือหุ้นกู้ได้มีส่วนร่วมและลงมือทำในกิจกรรมนั้นๆอย่างเต็มที่และเหมาะสม อีกทั้งเจ้าหน้าที่ SCG ยังสามารถดูแลและให้ความสะดวกได้อย่างทั่วถึง
อยากทราบที่อยู่สำหรับติดต่อแผนกบริหารความสัมพันธ์หุ้นกู้
แผนกบริหารความสัมพันธ์หุ้นกู้ สำนักงานการเงิน สำนักงานใหญ่ 2 ชั้น 2 บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) เลขที่ 1 ถ.ปูนซิเมนต์ไทย บางซื่อ กทม. 10800